การวิเคราะห์ตลาด Forex สามารถทำได้ 2 แบบ
1. การวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical Analysis) เป็นการหาแนวโน้มของค่าเงิน ว่าดัชนีราคาจะเคลื่อนที่ไปในทิศทางใด โดยยึดหลักสถิติจากข้อมูลอดีตมาใช้ในการคำนวณ เช่น ระดับราคา รูปแบบการเปลี่ยนแปลงราคา ปริมาณการซื้อ-ขาย สำหรับแนวคิดเพื่อการวิเคราะห์ปัจจัยทางด้านเทคนิคมีด้วยกันมากมาย สำหรับนักเทรดในฟอเร็กซ์จะนิยมใช้การวิเคราะห์กราฟราคาด้วยเทคนิคถึง 90 %
การวิเคราะห์ทางเทคนิคมักตั้งอยู่บนสมมุติฐานใน 3 ข้อคือ
- ราคา ณ เวลานั้นในอดีตที่นำมาวิเคราะห์ เป็นผลรวมจากปัจจัยทั้งหมด ที่ส่งผลกระทบให้ค่าเงินเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นข่าวใหญ่ เหตุการณ์ที่สำคัญต่างๆ หรือประกาศต่างๆ รวมกัน
- ราคาที่เคลื่อนไหวที่มีแนวโน้มจะไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง มักจะคงอยู่ในแนวโน้มนั้นๆ ในระยะช่วงเวลาหนึ่งสักพัก
- พฤติกรรมการซื้อ การขายของนักลงทุนในฟอเร็กซ์ มักจะมีลักษณะเหมือนเดิม คือมีพฤติกรรมคล้ายๆในอดีตที่ทำ
การวิเคราะห์ทางด้านเทคนิคนั้นจำเป็นต้องใช้เครื่องมือช่วยในการวิเคราะห์ ซึ่งมีให้เลือกใช้มากมาย เช่น ทฤษฎีดาว (Dow’s Theory) เป็นการวิเคราะห์แนวโน้มของกราฟราคาเป็น 3 กลุ่มคือ แนวโน้มใหญ่ แนวโน้มรอง และแนวโน้มย่อย และจะแบ่งตลาดออกเป็น 2 สภาวะ ได้แก่ ตลาดกระทิง (Bull Market)และตลาดหมี (Bear Market) , ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Averages) ใช้ในการวิเคราะห์ค่าเฉลี่ยในช่วงเวลาที่กำหนดไว้ สามารถใช้เป็นแนวรับ-แนวต้านได้อีกด้วย ,รูปแบบราคา (Price Pattern) เป็นรูปแบบราคาที่เกิดขึ้นในอดีตและเกิดขึ้นซ้ำๆจนเกิดเป็นรูปแบบต่างของราคา ,แผนภูมิแท่งเทียน (Candlesticks) มีด้วยกัน 26 คู่ที่มีลักษณะตรงกันข้ามที่นักเทรดต้องจำ, แผนภูมิ (Point & Figure) , ดัชนีบ่งชี้ (Indicators) เป็นต้น
2. การวิเคราะห์ขั้นพื้นฐาน (Fundamental Analysis) จะเป็นการวิเคราะห์ตลาดว่าเกิดสภาวะนี้จากสาเหตุใด จากปัจจัยพื้นฐานอะไรที่ทำให้ราคาเปลี่ยนแปลง ประกอบด้วย
การวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐกิจ (Economic Analysis) เป็นการวิเคราห์และคาดการแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจในอนาคต ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งรวมเศรษฐกิจภายในประเทศและของโลกด้วย รวมถึงการวิเคราะห์วัฏจักรของเศรษฐกิจ ดัชนีชี้วัดสถาพเศรษฐกิจในด้านต่างๆ นโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านการเงิน นโยบายการคลัง นโยบายการค้าระหว่างประเทศ ว่าสิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อค่าเงินในตลาฟอเร็กซ์และหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นมากน้อยเพียงใด
การวิเคราะห์ด้านอุตสาหกรรม (Industry Analysis) เป็นการวิเคราห์วงจรอุตสาหกรรม สภาพการแข่งขันในตลาดอยู่ในระดับใด มีแนวโน้มอัตราการเจริญเติบโตในอนาคตไปในทิศทางใด ซึ่งแนวโน้มนี้จะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่าง เช่น นโยบายของรัฐบาลที่ช่วยส่งเสริมและให้การสนับสนุนธุรกิจ หรือส่งผลกระทบด้านลบต่อธุรกิจ โครงสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านภาษีของภาครัฐ โครงสร้างของอุตสหกรรมแต่ละประเภท เป็นต้น
การวิเคราะห์ประเภทคุณลักษณะของบริษัท เป็นการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ เช่น ประสบการณ์ ความน่าเชื่อถือของผู้บริหาร บุคลากร ขีดความสามารถในการผลิต การบริการ การวิจัยและพัฒนา การบริหารและระบบสารสนเทศ เป็นต้น รวมทั้งการวิเคราะห์ในเชิงปริมาณ เช่น งบการเงินในอดีต งบการเงินในปัจจุบันเพื่อใช้คำนวณหาผลกำไรในอนาคตของธุรกิจนั้นๆ
โดยทั่วไปแล้วการวิเคราะห์สภาวะตลาดฟอเร็กซ์จะเน้นไปที่การวิเคราะห์ด้วยปัจจัยเทคนิค ซึ่งการวิเคราะห์ด้วยเทคนิคนั้น เป็นการใช้วิชาสถิติประมวลข้อมูลในอดีต แล้วจึงค่อยนำมาประกอบกับสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นสภาพเศรษฐกิจ ข่าวสำคัญที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ การประกาศตัวเลขต่างๆ รวมทั้งเหตุกาณ์สำคัญๆที่ส่งผลกระทบต่อประเทศนั้นและคนส่วนใหญ่ เราจะนำการวิเคราะห์ทั้ง 2 แบบ มาใช้คาดการณ์อนาคตของค่าเงินนั่นเองคะ
เราจะเห็นว่าการลงทุนในตลาดฟอเร็กซ์นั้น ถ้าไม่ศึกษาอินดิเคเตอร์ซึ่งเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์แนวโน้มค่าเงิน ใครที่คิดจะเข้ามาแสวงหากำไรแบบไม่คิดจะเรียนรู้ข้อมูลที่จำเป็นอาจเสี่ยงต่อการขาดทุนและไม่สามารถอยู่ในตลาดได้อย่างยั่งยืนได้