ตลาดซื้อขายเงินตราต่างประเทศ หรือตลาด Forex (Foreign Exchange Market) เป็นตลาดเพื่อการลงทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยปริมาณการซื้อขายเกินล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ใหญ่กว่าทุกตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ (ตลาดหุ้น) ทั้งโลกรวมกัน นักลงทุนทั้งมือใหม่และเก่ามีโอกาสเข้าร่วมซื้อขายในตลาดนี้ ซึ่งก็ไม่ต่างกับตลาดการค้าใดๆที่ยึดโยงอยู่กับทฤษฎีหลัก ‘ซื้อถูก ขายแพง’ แต่ตลาดซื้อขายเงินตราต่างประเทศมีทั้งความอ่อนไหวและความผันผวน อาจมากหรือน้อยแตกต่างกันไปก็แล้วแต่เหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบในแต่ละช่วงเวลา นักลงทุนหน้าใหม่ในตลาดฟอเร็กซ์จึงควรศึกษาและทำความเข้าใจกลไกและธรรมชาติใดๆในตลาดนี้ก่อนเข้าลงทุนเต็มตัว
มี 3 คำหลักที่ควรทำความเข้าใจในเบื้องต้น ก่อนเข้าร่วมตลาดซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ก็คือ สกุลเงิน, ค่าเงิน และคู่เงิน
- สกุลเงิน คือ หน่วยหลักของเงินตราที่แต่ละประเทศ (หรือกลุ่มประเทศ) กำหนดขึ้น เพื่อเป็นมาตรฐานในการใช้จ่ายเงินตรานั้นๆ
2. ค่าเงิน หรือ มูลค่าของเงิน คือ ความสามารถของสกุลเงินใดๆในการจับจ่ายใช้ซื้อสินค้าหรือบริการต่างๆ ค่าเงินอาจแบ่งย่อยเป็น
– ค่าเงินภายในประเทศที่ใช้สกุลเงินนั้นๆ ซึ่งมักแปรผันผกผันกับราคาสินค้าในประเทศ ถ้าสินค้าแพงขึ้น ส่วนหนึ่งอาจหมายถึง มูลค่าของเงินลดลง จึงต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นในการซื้อสินค้าเดิมๆ ในทางตรงข้าม ถ้าสินค้าถูกลง ส่วนหนึ่งอาจหมายถึง มูลค่าของเงินเพิ่มขึ้น จึงใช้เงินน้อยลงในการซื้อสินค้าเดิมๆ
– ค่าเงินเมื่อใช้แลกเปลี่ยนกับเงินสกุลอื่น หรือที่คุ้นกันว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ยกตัวอย่าง วันนี้ต้องใช้เงินไทย 33 บาท เพื่อแลกได้เงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากที่เมื่อวานใช้เงินไทยเพียง 30 บาท เพื่อแลกได้เงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯเท่ากัน นั่นคือ เงินดอลลาร์สหรัฐฯมีมูลค่าเพิ่มขึ้น (แข็งค่า) ในขณะที่เงินบาทมีมูลค่าลดลง (อ่อนค่า) เป็นต้น
มีหลายปัจจัยในการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ อาทิ ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางการค้า, อัตราเงินเฟ้อ, อัตราดอกเบี้ย, หนี้สาธารณะ, เศรษฐกิจ รวมถึงเสถียรภาพทางการเมืองของแต่ละประเทศด้วย
- คู่เงิน คือ การนำ 2 สกุลเงิน มาจับคู่/เปรียบเทียบกัน แล้วทำการซื้อและขายไปพร้อมๆกัน หากนักลงทุนเชื่อว่า สกุลเงินใดจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น (แข็งค่าขึ้น) ก็อาจซื้อสกุลเงินนั้น แล้วขายสกุลเงินอื่นที่จับคู่/เปรียบเทียบกันออกไปในเวลาเดียวกัน ตัวอย่างคู่เงิน อาทิ AUD/USD (ดอลลาร์ออสเตรเลีย เปรียบเทียบกับ ดอลลาร์สหรัฐฯ), CHF/JPY (ฟรังซ์สวิส เปรียบเทียบกับ เยนญี่ปุ่น), EUR/DKK (ยูโร เปรียบเทียบกับ โครนเดนมาร์ก)
นอกจากนั้น ยังมีอีก 2 คำ เพื่อใช้ส่งคำสั่งซื้อหรือขาย คือ Long และ Short
– คำสั่ง Long (หรือ Buy) เป็นคำสั่งเพื่อซื้อสกุลเงินใดๆ โดยคาดว่า สกุลเงินนั้นจะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับอีกสกุลหนึ่ง
– คำสั่ง Short (หรือ Sell) เป็นคำสั่งเพื่อขายสกุลเงินใดๆ โดยคาดว่า สกุลเงินนั้นจะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับอีกสกุลหนึ่ง
หลังทำความเข้าใจในเบื้องต้นกับคำสำคัญในตลาดฟอเร็กซ์แล้ว นักลงทุนก็อาจเข้าสู่สนามซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ด้วยการเปิดบัญชีกับนายหน้าซื้อขายฟอเร็กซ์เป็นลำดับถัดไป หลายโบรกเกอร์มีขั้นตอนง่ายๆเพียงกรอกข้อมูลส่วนตัว ยืนยันตัวตน (อาทิ e-Mail, เบอร์โทรฯ, เอกสารประจำตัว) และฝากเงินเข้าบัญชี เกือบทุกโบรกเกอร์มีบัญชีสาธิต (Demo Account) ให้นักลงทุนรายใหม่ (รายเก่าก็ไม่เกี่ยง) ได้ทดลองเทรดฟอเร็กซ์ด้วยเงินเสมือน ก่อนลงทุนด้วยเงินจริงๆในโอกาสต่อไป
เมื่อเปิดบัญชีเรียบร้อย นักลงทุนสามารถส่งคำสั่งซื้อ/ขายฟอเร็กซ์ด้วยโปรแกรม MT (Meta Trader) ที่พัฒนาโดย Misquotes Software Corp ซึ่งออกแบบให้โปรแกรม MT สามารถใช้ซื้อขายได้ทั้งเงินตราต่างประเทศ หลักทรัพย์ ทองคำ อนุพันธ์ สินค้าโภคภัณฑ์ พลังงาน เป็นอาทิ ปัจจุบันโปรแกรม Meta Trader พัฒนาถึงเวอร์ชัน 5 (MT5) แต่นักลงทุนจำนวนไม่น้อยก็ยังคุ้นเคยและเลือกเทรดฟอเร็กซ์ด้วยเวอร์ชัน 4 (MT4) ต่อไป
นอกจากเทรดผ่านโปรแกรม Meta Trader แล้ว ก็ยังอาจใช้วิธีอื่น อาทิ เทรดผ่านเว็บโดยไม่ต้องลงโปรแกรม MT อีกทั้งยังมีโปรแกรมอัตโนมัติ หรือ Expert Advisor (EA) ช่วยส่งคำสั่งซื้อ/ขาย โดยนักลงทุนไม่ต้องเฝ้าจับตาการเคลื่อนไหวของตลาดฯด้วยตัวเองตลอดเวลา และนอกจากเทรดผ่านคอมพิวเตอร์แล้ว การเทรดผ่านอุปกรณ์ไร้สายอื่น ทั้งระบบปฏิบัติการ Android และ iOS ก็เป็นอีกช่องทางที่นักลงทุนเลือกใช้ได้
การซื้อขายเงินตราต่างประเทศทุกวันนี้เป็นเรื่องสะดวก เข้าถึงง่าย นักลงทุนรายย่อยสามารถเข้าร่วมได้ด้วยเงินเพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งต่างจากอดีตที่ผู้ลงทุนมักเป็นธนาคาร กองทุน หรือนักลงทุนรายใหญ่เท่านั้น
เรียบเรียงโดยทีมงาน icafeforex.com
ขอสงวนสิทธิหากนำบทความไปเผยแพร่บนเว็บไซต์ของท่าน กรุณาลิ้งค์กลับมายังหน้าต้นฉบับด้วยครับ…